วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

ประวัติความเป็นมาของจังหวัดขอนแก่น

ประวัติความเป็นมาของจังหวัดขอนแก่น

           ประวัติการสร้างเมืองขอนแก่น เริ่มขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ในราว พ.ศ.2340เพียเมืองแพน เชื้อสายเจ้าเมืองร้อยเอ็ดและสุวรรณภูมิ ได้พาผู้คนอพยพออกจากบ้านชีโหล่น(ในเขตอำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน) มาตั้งบ้านที่บ้านดอนกระยอมเวลานั้นอยู่ในแขวงเมืองชนบถ(ชนบท) ปัจจุบันอยู่ที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น และได้แจ้งความประสงค์ไปยังเจ้าพระยานครราชสีมา ขอเป็นเจ้าเมือง เมื่อเป็นเจ้าเมืองแล้ว ก็ขอขึ้นกับเมืองนครราชสีมาจะรับอาสาทำราชการผูกส่วยตามประเพณี เจ้าพระยานครราชสีมาจึงกราบทูลพระกรุณาไปยังกรุงเทพฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าตั้งเพียเมืองแพน เป็น "พระนครศรีบริรักษ์" ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองโดยยกบ้านบึงบอน (บริเวณบึงแก่นนคร ทางด้านทิศตะวันตกที่ตั้งเมืองเก่า อำเภอเมืองขอนแก่น)
           ต่อมาในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 1 ในราว พ.ศ. 2352 เนื่องจากที่ตั้งเมืองขอนแก่นอยู่ใกล้ชิดกับเมืองชนบถ (ชนบท) ซึ่งขึ้นกับเมืองนครราชสีมา และมีการปักปันเขตเมืองกัน จึงได้ย้ายเมืองไปตั้งที่ที่บ้านดอนพันชาติ หรือดงพันชาติ (ในท้องที่บ้านโนนเมือง หมู่ที่ 15 ตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ปัจจุบัน) ด้วยเหตุผลการปักปันเขตเมืองขอนแก่นกับเมืองกาฬสินธุ์
           ในสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2398 ย้ายเมืองขอนแก่นไปตั้งที่บ้านโนนทอง ฟากบึงบอนทางทิศตะวันออก (บริเวณบ้านโนนทัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ปัจจุบัน) จนถึง พ.ศ. 2410 ย้ายเมืองอีกครั้งไปตั้งที่บ้านดอนบม บริเวณฝั่งตะวันออก (บริเวณบ้านดอนบม ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ปัจจุบัน) ด้วยเหตุผลทางด้านการคมนาคมสะดวกเนื่องจากต้องใช้แม่น้ำในการคมนาคมติดต่อ ซึ่งห่างจากจุดที่ตั้งปัจจุบันราว ๆ 8 กิโลเมตร จนกระทั่งปี พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าให้ พระเจ้าน้องนางเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ขึ้นไปเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ เนื่องจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองหัวเมืองลาวใหม่ โดยเปลี่ยนบริเวณหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือเป็นหัวเมืองลาวพวน เมืองขอนแก่นไปขึ้นกับเมืองลาวพวน ตอนเสด็จผ่านเมืองขอนแก่น ได้ไปประทับแรมที่บ้านทุ่ม 1 คืน เพราะเส้นทางคมนาคมหรือทางม้า โค เกวียน แต่ก่อนจากนครราชสีมา ต้องผ่านมาเมืองชนบท ผ่านบ้านทุ่มไปยังหนองคาย ทรงเห็นว่าบ้านทุ่มทำเลดี มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น ใกล้เส้นทางไปมาในสมัยนั้น จึงโปรดให้ย้ายเมืองขอนแก่นจากบ้านดอนบมไปตั้งที่บ้านทุ่ม (บริเวณบ้านทุ่ม ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ปัจจุบัน) ซึ่งห่างจากที่ตั้งปัจจุบัน 13 กม. และเปลี่ยนนามตำแหน่งเจ้าเมือง เป็นผู้ว่าราชการเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2436 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในแผ่นดินกรณีพิพากไทยกับฝรั่งเศส เป็นเหตุให้ไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งการปกครองออกเป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านสังกัดกระทรวงมหาดไทย จังหวัดขอนแก่นได้โอนไปขึ้นกับ มณฑลอุดร ต่อมาปี พ.ศ. 2442 เนื่องจากบ้านทุ่มในฤดูแล้งกันดารน้ำ ไม่เหมาะแก่การตั้งเมืองใหญ่ จึงโปรดย้ายเมืองจากบ้านทุ่ม กลับไปตั้งที่บ้านเมืองเก่า บริเวณบึงบอนด้านตอนเหนือ (บ้านเมืองเก่า ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ปัจจุบัน) ต่อมาปี พ.ศ. 2447 ได้เปลี่ยนนามตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่นเป็น ข้าหลวงประจำบริเวณลำชี ตลอดจนปี พ.ศ. 2450 โปรดเกล้าฯให้ย้ายศาลากลางมาตั้งที่บ้านพระลับ (บริเวณที่เป็นที่ทำการเทศบาลนครขอนแก่น ปัจจุบัน) และโปรดให้เปลี่ยนนามตำแหน่งข้าหลวงประจำบริเวณลำชี มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองตามเดิม
           ต่อมาปี พ.ศ.2459 โปรดเกล้าให้เปลี่ยนคำว่าเมือง มาเป็น จังหวัดและให้เรียนเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ในปี พ.ศ. 2476 เมื่อการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว ทางราชการได้ประกาศให้เปลี่ยนนามตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดอีกครั้ง ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย และในตอนหลังปี พ.ศ. 2495 ทางราชการ ให้เปลี่ยนนามตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัด มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอีกครั้ง และยังคงใช้ตำแหน่งนี้จนถึงปัจจุบัน
           จนกระทั่ง พ.ศ. 2507 สมัย ฯพณฯ จอมพลถนอม กิติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้ย้ายศาลากลางจังหวัดมาสร้างใหม่สง่างามที่บริเวณสนามบินเก่า ห่างจากจุดที่ตั้งเดิม ประมาณ 2 กิโลเมตร เรียกว่า "ศูนย์ราชการ"เป็นไปตามดำริของ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้เริ่มต้นไว้ก่อนนั่นเอง
           จะเห็นได้ว่า เมืองขอนแก่นนับจากมีใบบอกให้ตั้งเมือง เมื่อ พ.ศ. 2340 จนกระทั่งปัจจุบันเป็นเวลา 200 ปี ได้มีการย้ายเมืองมาแล้วหลายครั้ง จนกระทั่ง ณ ที่ตั้งปัจจุบัน เมืองขอนแก่นได้มีความเจริญรุดหน้ามาโดยลำดับ และมีความเป็นศูนย์กลางของภาคอีสานมานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพีย เป็นตำแหน่งขุนนาง ทางขนบธรรมเนียมประเพณี ระบอบการปกครองของภาคอีสาน สมัยเก่า ซึ่งเทียบเท่าชั้นเสนาบดี หรือกรมเมือง ถ้าเป็นเมืองที่มีกษัตริย์ใช้ชื่อ พญา หรือ พระยา นำหน้า แต่ถ้าเป็นหัวเมืองใช้คำว่า เพีย นำหน้า (เพีย มาจาก พญา -พีระ-เพียร ไม่ใช่ เพี้ย ซึ่งเป็นภาษท้องถิ่น)
           ชีโหล่น สันนิษฐานว่า แปลมาจากชีล้น หมายถึงน้ำชีล้นนั่นเอง เป็นเมืองภูเวียง ขึ้นกับเมืองขอนแก่น
เหนือ เรียกตามกระแสน้ำไหล ต้นน้ำเรียกว่าเหนือ ปลายน้ำเรียกว่าใต้ ที่บึงบอนเวลาฝนตก น้ำไหลจากทางบ้านเมืองเก่า ลงไปทางบึงทุ่งสร้าง จึงเรียกทางคุ้งเมืองเก่าว่า เหนือ
 ศาลากลาง เดิมอาศัยบ้านเจ้าของเมืองเรียกว่า โฮงเจ้าเมือง (โฮงโรง หรือ จวน) ว่าจะปลูกสร้างเป็นบ้าน 3 หลังติดกัน และใหญ่โตกว่าบ้านราษฎรธรรมดามาก หลังกลางปลูกเป็นห้องโถงโล่งตลอด ใช้สำหรับปรึกษาราชการต่างๆ ได้
การตั้งถิ่นฐาน
แม้ขอนแก่นจะเป็นบ้านเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่เมื่อราวสองร้อยกว่าปีมานี้ก็ตาม แต่ในอดีตกาลยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในบริเวณเขตจังหวัดขอนแก่นเคยมีชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ได้เข้ามาอาศัยก่อนแล้ว เช่น การค้นพบแหล่งโบราณคดีที่บ้านโนนนกทา อำเภอภูเวียง พบว่ามีเครี่องปั้นดินเผาที่มีอายุใกล้เคียงกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง คือมีอายุราว 5,500 ปีมาแล้ว ต่อมาชุมชนเหล่านี้ก็ได้วิวัฒนาการมาสู่ชุมชนแห่งรัฐ และกลายเป็นบ้านเมืองขึ้นในสมัยทวารวดี ก่อนที่ขอมจะมามีอำนาจในดินแดนส่วนนี้ เช่น พบแหล่งโบราณคดีที่วัดศรีเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง ซึ่งปรากฏจารึกศรีเมืองแอมที่ขอมได้เข้ามามีอำนาจในดินแดนส่วนนี้หรือที่ปรากฏเป็นปรางค์กู่ต่าง ๆ ในเขตจังหวัดขอนแก่น เป็นต้น
ประวัติศาสตร์การสร้างเมืองขอนแก่นได้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2322 ขณะนั้นเมืองเวียงจันทน์ได้เกิดเหตุพิพาทกับกลุ่มของเจ้าพระวอจนถึงกับยกทัพไปตีค่ายของเจ้าพระวอแตกที่บ้านดอนมดแดง (อุบลราชธานีปัจจุบัน) และจับเจ้าพระวอประหารชีวิต สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงถือว่าฝ่ายเจ้าพระวอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของไทยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพขึ้นไปตีเวียงจันทน์ จากนั้นจึงได้ยกทัพกลับมายังกรุงเทพมหานคร พร้อมกับได้อัญเชิญพระแก้วมรกต พระพุทธปฏิมากร และพระบางกลับมาถวายแต่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย
เจ้าแก้วบุฮม (แก้วบรม) กับพระยาเมืองแพน (หรือเพี้ยเมืองแพน) สองพี่น้อง ซึ่งเป็นโอรสของเจ้าแสนปัจจุทุม (ท้าวแสนแก้วบุฮม) ได้ยกกองทัพจากบ้านเพี้ยปู่ เขตแขวงเมืองทุละคม (ธุระคม) ซึ่งขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์ในทุกวันนี้ ข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานที่อยู่บ้านโพธิ์ตาก (บ้านโพธิ์ตาก ตำบลบ้านกง อำเภอเมืองขอนแก่น) และบ้านยางเดี่ยว บ้านโพธิ์ศรี (บ้านโพธิ์ศรี ตำบลบ้านโนน อำเภอกระนวน) บ้านโพธิ์ชัย (บ้านโพธิ์ชัย อำเภอมัญจาคีรี) เมืองมัญจาคีรีหรืออำเภอมัญจาคีรี ปรากฏอยู่ในทำเนียบมณฑลอุดร กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองขึ้นชื่อเมืองมัญจาคีรี โดยมีจางวางเอกพระยาพฤติคุณธนเขม (สน สนธิสัมพันธ์) เป็นเจ้าเมืองคนแรกเมื่อ พ.ศ. 2433-2439 เจ้าเมืองคนที่ 2 คือ พระเกษตรวัฒนา (โส สนธิสัมพันธ์) เมื่อ พ.ศ. 2439-2443 และมีปรากฏประวัติเมืองมัญจาคีรีในหนังสือประวัติจังหวัดในประเทศไทย ในห้องสมุดของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) บ้านสร้าง บ้านชีโหล่น (อยู่ในเขตเมืองสุวรรณภูมิ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดปัจจุบัน)
ในปัจจุบัน บางบ้านก็อยู่ในเขตอำเภอเมืองขอนแก่น บางบ้านก็อยู่ในเขตอำเภอน้ำพอง บางบ้านก็อยู่ในเขตอำเภออาจสามารถ (จังหวัดร้อยเอ็ด) บางบ้านก็อยู่ในเขตจังหวัดยโสธร บางบ้านก็อยู่ที่อำเภอมัญจาคีรี และบางบ้านก็อยู่ที่อำเภอคำเขื่อนแก้ว (จังหวัดยโสธร) เป็นต้น ทั้งนี้เป็นเพราะได้มีการเปลี่ยนแปลงเขตเมืองในสมัยหลัง ๆ ต่อมานั่นเอง
เจ้าแก้วบุฮมได้อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านโพธิ์ชัย พระยาเมืองแพนอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในบ้านชีโหล่น คุมไพร่พลคนละ 500 คน ขึ้นกับเมืองท่งหรือเมืองสุวรรณภูมิ ครั้นต่อมาอีกราว 9 ปี ในปี พ.ศ. 2331 เพี้ยเมืองแพนก็ได้พาราษฎรและไพร่พลประมาณ 330 คน ขอแยกตัวออกจากเมืองสุวรรณภูมิไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ฝั่งบึงบอน ยกขึ้นเป็นเมืองที่บ้านดอนพยอมเมืองเพี้ย (ปัจจุบันคือ บ้านเมืองเพี้ย ตำบลเมืองเพี้ย อำเภอบ้านไผ่)
บึงบอนหรือดอนพยอมในปัจจุบันได้ตื้นเขินเป็นที่นาไปหมดแล้ว แต่ก็ยังปรากฏเป็นรูปของบึงซึ่งมีต้นบอนขึ้นอยู่มากมาย ต่อมาก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เมืองแพนเป็นพระนครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขอนแก่น ดังปรากฏข้อความในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานของหม่อมอมรวงศ์วิจิตรว่า
ลุจุลศักราช 1159ปีมเสง นพศก (พ.ศ. 2340) ฝ่ายเพี้ยเมืองแพน บ้านชีโล่น เมืองสุวรรณภูมิ เห็นว่าเมืองแสนได้เป็นเจ้าเมืองชนบท ก็อยากจะได้เป็นบ้าง จึงเกลี้ยกล่อมผู้คนให้อยู่ในบังคับสามร้อยคนเศษ จึงสมัครขึ้นอยู่ในเจ้าพระยานครราชสีมา แล้วขอตั้งบ้านบึงบอนเป็นเมือง เจ้าพระยานครราชสีมาได้มีใบบอกมายังกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เมืองแพนเป็นที่พระยานครศรีบริรักษ์ เจ้าเมือง ยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็นเมืองขอนแก่น ขึ้นกับเมืองนครราชสีมา...
เอกสารพงศาวดารอีสานฉบับพระยาขัติยวงศา (เหลา ณ ร้อยเอ็ด) ได้กล่าวถึงการตั้งเมืองขอนแก่นว่า
“...ได้ทราบข่าวว่าเมืองแพน บ้านชีโล่น แขวงเมืองสุวรรณภูมิ พาราษฎร ไพร่พลประมาณ 330 คน แยกจากเมืองสุวรรณภูมิไปขอตั้งฝั่งบึงบอนเป็นเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เมืองแพนเป็นพระนครศรีบริรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น...ขอนแก่นจึงได้ที่มาว่าเป็นเมืองคู่กับมหาสารคามนั้นเอง
การย้ายถิ่นฐานเมืองขอนแก่น
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อ พ.ศ. 2339 ได้มีการย้ายเมืองขอนแก่นไปตั้งอยู่ที่บ้านหนองเหล็ก (ตำบลบ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ในปัจจุบัน) โดยได้ขอขึ้นตรงกับกรุงเทพมหานคร คือจะขอส่งส่วยต่อกรุงเทพมหานครโดยตรง ไม่ผ่านเมืองสุวรรณภูมิ เพราะให้เหตุผลว่า บ้านดอนพยอมเมืองเพี้ยอยู่ใกล้กับแขวงเมืองนครราชสีมา ซึ่งก็เป็นจริง เพราะอยู่ใกล้กับเมืองชนบทอันเป็นแขวงเมืองนครราชสีมาอยู่ขณะนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เข้าใจว่าเจ้าเมืองในขณะนั้นอยากจะแยกตัวออกเป็นอิสระ คืออยากจะแยกออกมาเป็นเมืองใหญ่อีกต่างหาก การย้ายเมืองครั้งนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวคำบัง (บุตรเจ้าแก้วบุฮม) เป็นพระนครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขอนแก่นต่อมา
ในปี พ.ศ. 2352 ได้ย้ายเมืองจากบ้านหนองเหล็กไปตั้งเมืองอยู่ที่บ้านดอนพันชาด (เขตตำบลบ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม) พระนครศรีบริรักษ์ (คำบ้ง) ได้ถึงแก่กรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าราชบุตร (ท้าวคำยวง) น้องชายของพระนครศรีบริรักษ์ (คำบ้ง) ซึ่งมีความดีความชอบจากการไปราชการสงคราม ขับไล่กองทัพพม่าออกไปจากเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น เป็นที่ พระนครศรีบริรักษ์ บรมราชภักดี ศรีศุภสุนทรเจ้าเมืองขอนแก่น
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2381 เมืองขอนแก่นก็ได้ย้ายจากบ้านดอนพันชาดไปตั้งอยู่ที่ริมฝั่งบึงพระลับโนนทอง คือบ้านเมืองเก่า ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่นในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อก่อนเรียกว่า "บ้านโนนทอง" ต่อมาเมื่อย้ายเมืองไปอยู่ที่นั่น จึงเรียกว่าบ้านเมืองเก่า สาเหตุที่ย้ายเมืองนั้นเล่ากันว่า เกิดการแย่งราษฎรไพร่พลขึ้น และเกิดแผ่นดินแยกที่ถนนกลางเมือง มีโรคภัยไข้เจ็บผู้คนล้มป่วยกันมาก จึงถือว่าที่ตรงนั้นไม่เป็นมงคลต่อการอยู่อาศัย จึงย้ายเมืองอีกครั้งหนึ่ง จากบึงพระลับโนนทองไปตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกที่บ้านโนนทัน (อยู่ในตำบลพระลับ อำเภอเมืองขอนแก่นปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2398 พอดีพระนครศรีบริรักษ์ (คำยวง) ได้ถึงแก่อนิจกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวอินธิวงษ์ บุตรคนเล็กของพระยานครศรีบริรักษ์ เป็นเจ้าเมืองขอนแก่น เพราะมีวิชาความรู้ดีกว่าพี่ชายคนอื่น ๆ โดยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาในราชทินนามเดิมของบิดาสืบมาภาพในเทศบาลนครขอนแก่นต่อมาในปี พ.ศ. 2407 ท้าวอินธิวงษ์เจ้าเมืองขอนแก่นได้ถึงแก่อนิจกรรมลงอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวคำบุ่ง (พี่ชายท้าวอินธิวงษ์) ผู้เป็นอุปฮาดแต่เดิมให้เป็นเจ้าเมืองขอนแก่นสืบแทนน้องชายต่อมาอีก 3 ปี เพราะชราภาพมากแล้ว
ในปี พ.ศ. 2410 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวอุ (ราชบุตร) ซึ่งเป็นหลานท้าวอินธิวงษ์ (พระยานครศรีบริรักษ์) ขึ้นเป็นเจ้าเมืองขอนแก่น และได้ย้ายเมืองขอนแก่นจากบ้านโนนทันกลับไปตั้งอยู่ที่บ้านเมืองเก่าอีก (บ้านโนนทองเดิม) พอถึงปี พ.ศ. 2413 ก็ได้ย้ายเมืองขอนแก่นจากบ้านเมืองเก่าไปตั้งอยู่ที่บ้านดอนบม (บ้านดอนบม ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองขอนแก่น) แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานบรรดาศักดิ์ท้าวอุ (ราชบุตร) เจ้าเมืองขอนแก่นในขณะนั้น เป็นพระนครศรีบริรักษ์ และให้ท้าวหนูหล้า บุตรคนเล็กของท้าวอินธิวงษ์ เป็นปลัดเมืองขอนแก่น (หรืออุปฮาด)
ในปี พ.ศ. 2434 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เปลี่ยนการปกครองหัวเมืองไกลใหม่ โดยเปลี่ยนเป็นบริเวณหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ ให้เป็นหัวเมืองไกลใหม่ โดยเปลี่ยนเป็นบริเวณหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือให้เป็นหัวเมืองลาวพวน ดังนั้น เมืองขอนแก่นจึงกับขึ้นกับเมืองลาวพวน ในสมัยนั้นได้มีสายโทรเลข ที่เดินจากเมืองนครราชสีมา ผ่านเมืองชนบท เข้าเขตเมืองขอนแก่นข้ามลำน้ำชีที่ท่าหมากทัน ตรงไปท่าพระ บ้านทุ่ม โดยไม่เข้าเมืองขอนแก่น และตรงไปข้ามลำน้ำพองไปบ้านหมากแข้งเมืองอุดรธานี กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม (พระยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำมณฑลทรงดำริว่า ที่ว่าการเมืองขอนแก่นที่ตั้งอยู่ที่บ้านดอนบม ไม่สะดวกแก่ราชการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนครศรีบริรักษ์ (อุ) ย้ายเมืองไปตั้งอยู่ที่บ้านทุ่ม (อำเภอเมืองขอนแก่นในปัจจุบัน) ในปลาย พ.ศ. 2434 และเปลี่ยนนามตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง
ในปี พ.ศ. 2440 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานบรรดาศักดิ์ท้าวหนูหล้าปลัดเมืองขอนแก่นเป็นพระพิทักษ์สารนิคม และในปี พ.ศ. 2441 ก็ได้ย้ายเมืองขอนแก่นจากบ้านทุ่มกลับไปตั้งอยู่ที่บ้านเมืองเก่าตามเดิม โดยตั้งศาลากลางขึ้นที่ริมบึงเมืองเก่าทางด้านเหนือ (หน้าสถานีโทรทัศน์ในปัจจุบัน) ด้วยเหตุผลที่ว่า บ้านทุ่มนั้นกันดารน้ำในฤดูแล้ง
ในปี พ.ศ. 2444 ทางราชการได้เกณฑ์แรงงานของราษฎรที่เคยหลงผิดไปเชื่อผีบุญ-ผีบาป ที่เขตแขวงเมืองอุบลราชธานีในตอนนั้น โดยให้พากันมาช่วยสร้างทำนบกั้นน้ำขึ้นเป็นถนนรอบบึงเมืองเก่า เพื่อกักน้ำไว้ใช้สอยในฤดูแล้ง เพราะบึงนี้เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของชาวเมืองขอนแก่น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2447 พระนครบริรักษ์ (อุ นครศรี) เจ้าเมืองขอนแก่น ได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ เหตุเพราะชราภาพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งพระพิทักษ์สารนิคม (หนูหล้า สุนทรพิทักษ์) ปลัดเมืองขอนแก่นขึ้นเป็นผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น และในปีนั้นเอง ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนนามตำแหน่งข้าหลวงประจำเมืองขอนแก่นเป็นข้าหลวงประจำบริเวณพาชี ส่วนเมืองต่าง ๆ ที่ขึ้นต่อนั้น ก็ให้เปลี่ยนเป็นอำเภอและผู้เป็นเจ้าเมืองนั้น ๆ ก็ให้เปลี่ยนเป็นนายอำเภอ ตำแหน่งอุปฮาดก็เป็นปลัดอำเภอไป
ต่อมาในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเป็นจังหวัดแทน ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองจึงกลายเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดและศาลาว่าการเมืองก็เปลี่ยนมาเป็นศาลากลางจังหวัด นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ที่มาของชื่อขอนแก่น
เหตุที่เมืองนี้มีนามว่า เมืองขอนแก่นนั้นได้มีตำนานแต่โบราณเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ก่อนที่เพี้ยเมืองแพนจะอพยพไพร่พลมาตั้งบ้านตั้งเมืองขึ้นนั้น ปรากฏว่าบ้านขาม หรือตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพองปัจจุบัน ซึ่งเป็นเขตแขวงร่วมการปกครองกับบ้านชีโล้น มีตอมะขามขนาดใหญ่ที่ตายไปหลายปีแล้ว กลับมีใบงอกงามเกิดขึ้นใหม่อีก และหากผู้ใดไปกระทำมิดีมิร้ายหรือดูถูกดูหมิ่น ไม่ให้ความเคารพยำเกรง ก็จะมีอันเป็นไปในทันทีทันใด เป็นที่น่าประหลาดและมหัศจรรย์ยิ่งนัก
ดังนั้น บรรดาชาวบ้านชาวเมืองในแถบถิ่นนั้นจึงได้พร้อมใจกันก่อเจดีย์ครอบตอมะขามนั้นเอาไว้เสีย เพื่อให้เป็นที่สักการะของคนทั่วไป พร้อมกับได้บรรจุพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า 9 บทเข้าไว้ในเจดีย์ครอบตอมะขามนั้นด้วย ซึ่งเรียกว่า พระเจ้า 9 พระองค์ แต่เจดีย์ที่สร้างในครั้งแรกเป็นรูปปรางค์ หลังจากได้ทำการบูรณะใหม่เมื่อราว 50 ปีที่ผ่านมานี้ จึงได้เปลี่ยนเป็นรูปทรงเจดีย์ และมีนามว่า พระธาตุขามแก่น ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตจังหวัดชัยภูมิ บ้านขาม ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น พระเจดีย์ขามแก่นถือว่าเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวจังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะมีงานพิธีบวงสรวง เคารพสักการะกันในวันเพ็ญเดือน 6 ทุกปี
ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของเจดีย์พระธาตุขามแก่นนั้น มีซากโบราณที่ปรักหักพังปรากฏอยู่ โดยอยู่ห่างจากเจดีย์ราว 15 เส้น หรืออยู่คนละฟากทุ่งของบ้านขาม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริเวณแถบนี้น่าจะเป็นที่ตั้งของเมืองมาก่อน แต่ได้ร้างไปนาน ดังนั้น จึงได้ถือเอานิมิตนี้มาตั้งนามเมืองว่าขามแก่น แต่ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนมาเป็นเมืองขอนแก่น จนกระทั่งทุกวันนี้